หัวเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่ใช้กับพืช

หลายคนคุ้นชินกับคำว่า จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ที่มีคุณสมบัติ เป็นฮอร์โมนเร่งโตให้กับพืช แต่รู้หรือไม่ว่า มีอะไรมากกว่านั้น

จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง หรือ Photosynthetic Bacteria เป็นหนึ่งใน 4 ชนิดจุลินทรีย์ที่นิยมนำมาใช้ในภาคเกษตร โดยทั้ง 4 ชนิดประกอบไปด้วย จุลินทรีย์อีเอ็ม EM, จุลินทรีย์หน่อกล้วย, จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง และ จุลินทรีย์จาวปลวก

จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงคืออะไร

มันคือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม คุณสมบัติเด่นของเจ้านี่ คือ มันจะทำหน้าที่นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในดินและในน้ำมาใช้ประโยชน์ รวมถึงสามารถย่อยสลายอินทรีย์วัตถุให้มีขนาดเล็กลง และด้วยความสามารถนี้ ทำให้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงมีประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น พืชสามารถดูดซึมอินทรีย์วัตถุที่ถูกย่อยสลายได้เร็วขึ้น ทำให้ปริมาณการใช้ปุ๋ยลง ในขณะเดียวกัน พืชก็เจริญเติบโตมากขึ้นด้วย

เจ้าจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงตัวนี้ หากจัดให้อยู่ในกลุ่มจุลินทรีย์ EM จะมีคุณสมบัติ ช่วยสังเคราะห์สารอินทรีย์และสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน แต่หากนำมันมาอยู่ในกลุ่มจุลินทรีย์หลักที่ช่วยการเพาะปลูก มันจะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่มีประโยชน์สูง พวกมันสามารถพบได้ตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติ รวมถึงในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั่วไป แต่การมีอยู่ของพวกมัน ไม่ได้มีเยอะมาก แต่มีอยู่กระจัดกระจายไปตามที่ต่าง ๆ ดังนั้น เมื่อมีประโยชน์ เราควรจะนำมันมาใช้ประโยชน์ หรือขยายจำนวนให้มันมีเยอะขึ้น เพื่อประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน

ประโยชน์ของจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง

โดยส่วนใหญ่แล้ว ถือเป็นแหล่งรวมแร่ธาตุ และสารอาหารต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยประโยชน์หลัก ๆ จะมีหลายประการ เช่น

  • เป็นตัวช่วยเร่งปฎิกิริยาในการย่อยสลายทำให้เกิดปุ๋ยในดินเยอะขึ้น ช่วยให้พืชได้รับปุ๋ยมากขึ้น
  • ช่วยในการตรึงไนโตรเจนในดิน ให้พืชนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสม ดินไม่สูญเสียไนโตรเจนไปโดยเปล่าประโยชน์
  • ใช้งานร่วมกับปุ๋ย ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยลง 30 – 50%
  • เป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดกระบวนการรีไซเคิล คาร์บอนฯ และ สารจำพวกซัลเฟอร์ ซึ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของต้นไม้
  • ทำให้รากของพืชแข็งแรง สามารถหาอาหารได้มากขึ้น ตัวจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงเอง เมื่อตายไปยังให้โปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย
  • พืชมีความแข็งแรง ต้านทานโรคและแมลงได้ดี
  • ฉีดพ่นในคอกสัตว์ เชื่อช่วยลดกลิ่นเหม็นของมูล และสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย

วิธีทำหัวเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง

เตรียมอุปกรณ์การทำ เริ่มจาก

  1. น้ำสะอาด (ไม่ควรใช้น้ำประปาที่มีคลอรีน)
  2. ไข่ไก่สด 1 ฟอง สามารถผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงได้ 2 ลิตร
  3. ถ้วย สำหรับใส่ไข่
  4. ขวดน้ำ ขนาดตามต้องการ
  5. ผงชูรส / เครื่องดื่มชูกำลัง / น้ำปลา เพื่อช่วยเร่งการเติบโตของจุลินทรีย์ มีหรือไม่ก็ได้
  6. ถังผสม อาจเป็นกะละมัง หรือถังน้ำ ที่สะอาด
หัวเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง
หัวเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง

วิธีการผสม เพื่อเร่งการเกิดจุลินทรีย์

  1. นำไข่ไก่สด หรืออาจเป็นไข่เป็ด หรือไข่สัตว์ชนิดใดก็ได้ มาตอกและตีให้แตก เหมือนการทำไข่เจียวนั่นแหละ
  2. ใส่สารเร่งการเติบโตของจุลินทรีย์ เช่น ผงชูรส เครื่องดื่มชูกำลัง หรือน้ำปลา ตามอัตราส่วน ไข่ไก่สด 1 ฟอง ต่อสารเร่ง 1 ช้อนชา จะใส่ทั้ง 3 อย่างก็ได้ อย่างละ 1 ช้อนชา
  3. นำน้ำสะอาด ใส่ลงในถังน้ำ กะปริมาณตามอัตราส่วน น้ำ 1 ลิตร ต่อไข่ไก่ที่ผสมหัวเชื้อแล้ว 1 ช้อนโต๊ะ ผสมให้เข้ากัน
  4. เทน้ำที่ผสมไข่ไก่และหัวเชื้อแล้ว ใส่ขวด ปิดฝาให้สนิท ควรใช้พลาสติกปิดปากขวดก่อนปิดฝาทับไปอีกที เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศหรือเชื้อโรคเข้าไปได้
  5. นำขวดที่ได้ ไปวางไว้กลางแจ้ง ที่แดดส่องถึง หรือ เอาไปตากแดดนั่นแหละ
  6. รอจนกว่าสีในขวดจะเปลี่ยนเป็นสีแดง
  7. หากสีน้ำในขวดเปลี่ยนเป็นสีอื่น นอกจากสีแดง เช่น ม่วง หรือดำ ให้คิดไปก่อนว่าอาจจะเสีย หรือมีเชื้อก่อโรค ควรทิ้งและทำลาย โดยปกติจะต้องมีสีชมพู เขียว หรือแดงเข้ม

ข้อสังเกตุ ทำไมทำหัวเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงแล้ว ไม่แดง 100%

  • หากใช้น้ำประปา สีสุดท้ายที่ได้ อาจเป็นสีเขียว สีขวา หรือแดงเล็กน้อย ทั้งนี้ อาจเพราะจุลินทรีย์เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ อาจมีคลอรีน หรือสารที่ยับยังการเติบโตของสิ่งมีชีวิตอื่น
  • น้ำธรรมชาติ ที่ผ่านการกรองให้สะอาดแล้ว เช่น ในสระ ในบ่อปลา สีจะออกแดงเข้มภายใน 5-7 วัน
  • น้ำบาดาล สีอาจจะแดง หรือขาวขุ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งเจือปนในน้ำ แคลเซียมและฟอสเฟต ทำให้น้ำกลายเป็นด่าง ไม่เหมาะกับการเติบโตของจุลินทรีย์เท่าที่ควร

สรุปว่า สีที่ได้จากการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ขึ้นอยู่กับน้ำที่นำมาใช้ แนะนำว่าควรเป็นน้ำจากบ่อธรรมชาติ ที่ผ่านการกรองสิ่งสกปรกต่าง ๆ มาแล้ว จะดีที่สุด เพราะจะมีเชื้อจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่เดิมเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ทำให้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่ได้ แข็งแรง และมีการเจริญเติบโตดี เวลานำมาผลิตเป็นหัวเชื้อ มักจะได้ผลเร็วกว่าการใช้น้ำจากแหล่งอื่น ๆ

หัวเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง
หัวเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง

จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง มีอันตรายหรือไม่

จากข้อมูลที่ได้รับ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง สามารถเจริญเติบได้ ทั้งในแบบใช้แสง และไม่ใช้แสง และที่มีเกษตรกรอ้างว่า ใช้แล้วเป็นสาเหตุของการเกิดโรคในพืช ก็ไม่เป็นความจริง เนื่องจากไม่เคยพบรายงานใดที่ระบุว่า จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงเป็นสาเหตุในการเกิดโรค ทั้งต่อเกษตรกร และพืชผัก ซึ่งนักวิจัยของญี่ปุ่น ถือเป็นชาติแรกที่ค้นพบว่า นอกจากจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจะมีประโยชน์กับพืชแล้ว ยังสามารถผสมอาหารเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ได้ โดยไม่มีโทษอีกด้วย

แต่พบว่า เชื้อที่ก่อโรคสามารถพบได้ตามธรรมชาติทั่วไป เพราะในธรรมชาติ มีจุลินทรีย์หลายชนิดที่สร้าง pigment เม็ดสีในเซลล์ได้ เช่น ยีสต์ รา รวมถึงแบคทีเรีย ถึงจะไม่มีกระบวนการสังเคราะห์แสง แต่เซลล์ก็ยังแดงได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่หลายคนกลัว ว่าการใช้จุลินทรีย์ที่ไม่ได้ผ่านการผลิตอย่างถูกวิธี จะมีการปนเปื้อนของเชื้อที่ก่อโรคตั้งแต่คราวแรก และอาจทำให้เกิดโทษมากกว่าได้ประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน ดังนั้น ส่วนผสมในการผลิต จึงต้องสะอาดและเชื่อใจได้ว่า ปลอดภัยจริง ๆ

วิธีใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงให้ได้ผลที่สุด

ใช้ได้บ่อย ไม่มีอันตรายต่อพืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม แต่อาจจะเหม็นเน่า หากใช้บ่อยเกินความจำเป็น ทั้งนี้ จากอัตราการสำรวจและเปรียบเทียบ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ได้ผลดีที่สุด ควรใช้ตามอัตราส่วนดังนี้

  • จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 100 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ผสมและฉีดพ่นพืชผักทางใบ ฉีดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
  • จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 100 ซีซี ผสมน้ำ 10 ลิตร ฉีดพ่นลงดิน บำรุงรากพืช สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
  • ไม่แนะนำให้ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ที่ไม่ผ่านการผสมน้ำ ทำการฉีดพ่นหรือรดแปลงผัก เนื่องจากไม่คุ้มและทำให้เปลืองค่าใช้จ่าย
  • ปริมาณหัวเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง 1 ลิตร สามารถผสมน้ำได้น้อยสุด 50 ลิตร สำหรับบำรุงดิน

การขยายหัวเชื้อจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ทำได้โดยการนำหัวเชื้อจากขวดเดิมมาขยายใหม่ซ้ำได้เรื่อย ๆ ดังนี้

  • หัวเชื้อเดิม 1 ช้อนโต๊ะ
  • ไข่ไก่ 1 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำสะอาด 1 ลิตร

กระบวนการเหมือนการผลิตหัวเชื้อทุกขั้นตอน แต่การขยายหัวเชื้อนี้ ระยะเวลาจะน้อยกว่า เพราะใช้หัวเชื้อเดิมเป็นส่วนผสมเพิ่มเข้าไปอีกส่วน ผสมแล้วนำขวดไปตากแดดจนเกิดสี ก็สามารถใช้ได้บ่อย ตามที่ต้องการได้แล้ว

ขอบคุณที่มาของข้อมูลจาก

Herbs information

มะม่วงหาวมะนาวโห่ สมุนไพรที่ควรมีไว้ติดบ้าน

มะม่วงหาวมะนาวโห่ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Bengal Currant แต่หากพูดแต่ชื่อ คงจะงง การจะอธิบายให้ฝรั่งเข้าใจ คงต้องมีให้ทดลองชิม

อ่านบทความนี้ต่อ

How to

แนะการขุดบ่อเลี้ยงปลาในพื้นที่จำกัด อย่างไรถึงคุ้มสุด

สำหรับวันนี้เราทีมเกษตรปลอดสารพิษก็ได้มีโอกาสเขียนเกี่ยวกับการทำเกษตรในพื้นที่จำกัด

อ่านบทความนี้ต่อ

Best Infomal

การเกษตรอินทรีย์เบื้องต้น

เกษตรอินทรีย์ ส่วนใหญ่เราเข้าใจกันง่ายๆ ว่าเป็นการทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี และสารเคมีที่ว่า คือสารที่ถูกสกัดมาจากห้องทดลอง

อ่านบทความนี้ต่อ

Herbs information

ผักปลัง มีทั้งก้านแดงและเขียว

ผักปลัง ปลูกง่าย เด็ดกิ่งปักชำในดินชื้นแฉะ ไม่กี่วันก็งอก อาทิตย์เดียวแตกยอดเต็มสวน

อ่านบทความนี้ต่อ

How to

วิธีเลี้ยงปลาดุกให้เป็นปลาที่มีเนื้ออ่อนนุ่ม

หากการเลี้ยงปลาดุก จะทำให้มีรายได้เพิ่ม ควรเริ่มเลยวันนี้

อ่านบทความนี้ต่อ

Best Infomal

สรุปหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สรุปหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่นำไปใช้กับการทำงานในสภาพปัจจุบัน การต้องแข่งขัน ทั้งคุณภาพและเวลา การทำงานจริง จึงไม่มีเวลาลองผิดลองถูก

อ่านบทความนี้ต่อ