โทงเทง สมุนไพรไทยข้างถนน ใครยังจำได้บ้าง ต้นไม้ที่หลายคนเข้าใจว่าเป็น หญ้าข้างทาง หลายท่านอาจมองผ่านเลยไป แต่หลายท่านก็หันมาสนใจ เคยลองมองดูข้างๆ ถนนบ้างหรือเปล่าว่ามีสมุนไพรข้างถนนที่น่าสนใจ อยู่อีกหลายต่อหลายอย่าง ถ้าสนใจก็ลองหันมาดูบทความต่อไปนี้เลย
เพราะบางทีอาจเป็นประโยชน์แก่ท่านอย่างมากมายก็ได้ ซึ่งบทความนี้เก็บตกมาจากเว็บเกษตรพอเพียง ซึ่งคุณ konthain(นพ) เป็นผู้รวบรวมและเรียบเรียจากตำราต่าง ๆ ที่พอจะหาได้มาเล่าสู่กันฟัง ท่านว่าบทความต่อไปนี้ หากเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านท่านใด ก็ขอให้ได้ใช้ประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ที่เจ็บป่วย ด้วยความเมตตา เพราะเมตตาเท่านั้นที่จะคุ้มครองโลก และขอให้ได้แจกจ่ายความรู้นี้เป็นวิทยาทานด้วย อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวนักเลย (ซึ่งผมก็นำมาหวังที่จะให้หลาย ๆ ท่านที่พลาด ได้อ่านกันอีกทางหนึ่ง โดยไม่หวังสิ่งใด ๆ ตอบแทน)
ไม่ว่าท่านจะเดินไปในที่ไหน ๆ ที่รกร้างว่างเปล่า ที่แฉะ ๆ ชื้น ๆ ตามซอกตามตรอก ตามหมู่บ้านตามดงหญ้า ถ้าจะสังเกตให้ดี ก็จะพบว่าเจ้า ต้นโทงเทงไทย นี้ขึ้นไปทุกหนทุกแห่ง บางท่านอาจจะไม่คุ้นหูกับชื่อนี้ก็ได้ ยังมีชื่อเรียกกันอีกเยอะแยะ ดังต่อไปนี้
ชื่อในประเทศไทย : โทงเทง โคมจีน เผาะแผะ ทุ้งทิ้ง มะก่องเช้า ตุ้งติ้ง ต็งอั้งเช้า ทุงทิง โคมญี่ปุ่น
ชื่อในประเทศจีน : ซึงเจี่ย อั้งโกวเนี้ย กิมเต็งลั้ง เต็งอั้งเช้า อ้วงบ๊อจู หลกซิ้งจู เทียงผาเช้า ขั่วกิมเต็ง
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : ไฟซาลิส มินิน่า (Physalis minima Linn) วงศ์ไซลานาซิอี้ (Solanaceae)
ลักษณะทั่วไปของต้นโทงเทง
เป็นสมุนไพรเล็ก ๆ จำพวกหญ้า ต้นสูงประมาณครึ่งฟุต ถึง 2 ฟุต ใบกลมคล้ายใบพิมเสน แต่เล็กกว่าและบางกว่ามาก ดอกสีเหลือง ผลกลมพองเหมือนโคมจีนปลายแหลม โตประมาณเท่าลูกพุทร้าเขื่องๆ งามน่าดู มีขึ้นอยู่ตามที่ชุ่มชื้น และรกร้างว่างเปล่าทั่วๆ ไป คนจีนนิยมปลูกกันตามสวนยาจีน และนิยมใช้กันมาก เพราะรู้สรรพคุณดี สำหรับไทยเราไม่ค่อยมีใครนิยมกันนัก
ต้นโทงเทง ประโยชน์สำหรับการใช้ทางยา
- ใช้ทั้งต้นตำละลายกับเหล้า เอาสำลีชุบน้ำยาอมไว้ข้างๆ แก้มและค่อยๆ กลืนน้ำยาผ่านลำคอทีละน้อยๆ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้ฝีในคอ (แซง้อ) และ แก้คออักเสบวิเศษนัก สำหรับท่านที่ไม่ดื่มสุรา จะใช้น้ำส้มสายชูแทนได้เป็นอย่างดี และได้ผลอย่างเดียวกัน
- ใช้ภายใน แก้ร้อนใน กระหายน้ำวิเศษ
- ใช้ภายนอก แก้ฟกบวม อักเสบ ทำให้เย็น
- จากตำราจีน “ซีกเองตงเช่าเอียะฉิ่วแฉะ” (หรือคู่มือสมุนไพรจีน ฉบับปฏิบัติ) กล่าวว่าขนาดใช้ ใช้ 2สลึง ถึง 3 สลึง ต้มกินแก้โรคต่อไปนี้ได้ดี
- หลอดลมอักเสบอย่างแรง ไอ หอบ ใช้โทงเทงกับเปลือกส้มจีนแห้งหรือตั้งพ๊วยอย่างละ 2 สลึง ต้มกินก็จะหาย
- หลอดอาหารอักเสบอย่างแรงจนคอบวมแดง กับเป็นแผลเน่า เป็นฝี ปัจจุบันนี้มียาแผนปัจจุบันใช้กันแล้ว แต่ถ้าไม่มี ให้ใช้โทงเทง กับเลี่ยงเคี้ยว (มีขายตามร้านขายยาจีน) อย่างละ 1 สลึง กับ 5 หุน (5 หุน เท่ากับ ½ สลึง) ชะเอม 1 สลึง ต้มกินก็จะหาย หรือจะใช้โทงเทง แต่อย่างเดียวชงน้ำดื่มอย่างชา ก็จะมีผลเช่นกัน
- ฝีอักเสบมีพิษ ใช้สดๆ ตำให้แหลกพอก หรือถ้ามีแผลด้วย ก็เอาต้มน้ำชำระด้วย
- จากตำรา “ซีกเองตงเอียะฉิ่วแฉะ” (หรือคู่มือยาจีน ฉบับปฏิบัติ) กล่าวว่า โรคช่องปากอักเสบ ลิ้นอักเสบ น้ำปัสสาวะเป็นสีเหลือง ใช้โทงเทงอิงถิ่น และชะเอม อย่างละ 2 สลึง ต้มกินก็หาย
- จากตำราสมุนไพรจีนอีกเล่มหนึ่งชื่อ “หิ่งต่อซีกเองตงเอียะ” กล่าวว่า หลอดลมอักเสบอย่างแรง ไออย่างแรง คอเจ็บ โรคเสียงแหบต่างๆ ใช้โทงเทง 6 กรัม ชะเอม 3 กรัม ‘ไต้ลักจื้อ’ 5 กรัม ‘อัวน่ำจื้อ’ 5 กรัม ‘เบ๊ปวก’ 1 กรัม ‘ง๊วงเซียม’ 5 กรัม น้ำ 500 ซี.ซี. ต้มให้เหลือ 200 ซี.ซี. กินวันละ 3 หนก็หาย
หลักฐานที่ใช้อ้างอิงในการรวบรวม และเรียบเรียงเกี่ยวกับต้นโทงเทง
- ตำราไม้เทศเมืองไทย ของอาจารย์เสงี่ยม พงศ์บุญรอด
- ซีกเองตงเอียะฉิ่วแฉะ (คู่มือยาจีน ฉบับปฏิบัติ)
- ซีกเองตงเช่าเอียะฉิ่วแฉะ (คู่มือสมุนไพรจีน ฉบับปฏิบัติ)
- หิ่งต่อซีกเองตงเอียะ
จึงขอขอบคุณท่านเจ้าของตำราเหล่านี้มา ณ โอกาสนี้ด้วย
หมายเหตุ
ทางกอง บก. ได้รับจดหมายพร้อมข้อเขียนเรื่อง “โทงเทง-สมุนไพรข้างถนน” กับ “มะระ-ยาในครัวเรือน” จาก ร.อ.ยิ่งวัฒนา บัวเพชร์ ผู้ช่วยสัสดี จังหวัดพัทลุง ทางเราเห็นว่าคงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านได้บ้าง จึงได้นำลงคอลัมน์ “สมุนไพร” นี้ และเราได้ช่วยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลรายงานทางคลินิกของ โทงเทง ประกอบมากับบทความนี้ด้วย เราขอขอบคุณ ร.อ.ยิ่งวัฒนา บัวเพชร์ มา ณ โอกาสนี้ และขอเชิญชวนท่านผู้อ่านได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสมุนไพร มาร่วมสนุกกับเราด้วยนะครับ ..(ชัยโย)
สรรพคุณของ โทงเทง ทางสมุนไพรจีน
เพิ่มเติมเรื่อง โทงเทง
ผลรายงานทางคลินิก (จากหนังสือ พจนานุกรมสมุนไพรจีน ฉบับสมบูรณ์)
- แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ใช้ทั้งต้นแห้งหนัก 500 กรัม ผสมน้ำเชื่อมให้มีปริมาณ 500 ซี.ซี. รับประทานครั้งละ 50 ซี.ซี. วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร 10 วัน เป็น 1 รอบของการรักษา กินติดต่อกัน 3 รอบ แต่ละรอบพัก 3 วัน จากการรักษาคนไข้ 50 ราย ได้ผล 39 ราย อาการดีขึ้น 10 ราย ไม่เห็นผล 1 รายจากการรักษาโรคไอมีเสมหะ หอบ หืด ได้ผลค่อนข้างดี ระยะเวลาของการรักษาโดยเฉลี่ย 3-6 วัน ยกเว้น 1 ราย ที่รักษาถึง 20 วัน ในระหว่างการรักษาคนไข้บางคน มีอาการรู้สึกใจคอ ไม่ค่อยดี อึดอัด เวียนหัว นอนไม่หลับ เหล่านี้เป็นอาการข้างเคียงของยานี้ หลังจากรักษา 1-5 วัน อาการเหล่านี้ ก็จะหายไปเอง มีคนไข้รายหนึ่ง กินต้นนี้สดๆ หนัก 750 กรัมในเวลา 2 วัน ก็ไม่ปรากฏอาการเป็นพิษแต่อย่างใด
- แก้ดีซ่าน ใช้ทั้งต้น 2 ต้น ต้มน้ำ คั้นเอาน้ำข้นๆ มาผสมน้ำตาลพอสมควร ให้รับประทานวันละ 2-3 ครั้ง บางคนรับประทาน 10-15 ครั้ง ก็หายตัวเหลือง
- แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ใช้ต้นนี้สดๆ (หรืออย่างแห้งก็ใช้ได้) 3 หัว แผ่น ฝักชุบน้ำตาล 2 แผ่น ใส่น้ำ 1 ถ้วย ต้มให้เหลือครึ่งถ้วย รับประทานครั้งเดียวหมด เด็กก็รับประทานลดลงตามส่วน จากการรักษาคนไข้ร้อยกว่าราย บางคนรับประทาน 4-10 ครั้งก็หาย บางคนรับประทานติดต่อกันถึง 2 เดือนจึงหาย
แหล่งที่มาข้อมูล : http://doctor.or.th/node/5235 / http://www.kasetporpeang.com
How to
วิธีเลี้ยงปลาดุกให้เป็นปลาที่มีเนื้ออ่อนนุ่ม
หากการเลี้ยงปลาดุก จะทำให้มีรายได้เพิ่ม ควรเริ่มเลยวันนี้
อ่านบทความนี้ต่อHow to
ปลูกข้าวโพดฝักอ่อนเพื่อสร้างรายได้
แนวทางการทำเกษตรอินทรีย์รูปแบบใหม่ หากอยากได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ควรทำแบบมั่ว และไร้ทิศทาง
อ่านบทความนี้ต่อBest Infomal
วิถีเกษตรแห่งขุนเขา
จากดินแดนที่อยู่เหนือสุดในสยามประเทศ ติดกับชายแดนสามแผ่นดิน เมืองล้านนา ณ จังหวัดเชียงราย เพื่อศึกษาถึงวิถีเกษตรกรรมของผู้คนในจังหวัด
อ่านบทความนี้ต่อBest Infomal
หญ้าสุวรรณภูมิ พืชพลังงาน ใช้เป็นอาหารสัตว์ก็ได้
หญ้าสุวรรณภูมิ เป็นพืชในกลุ่มหญ้าเนเปียร์ พืชชนิดนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มพืชให้พลังงาน รวมทั้งพืชใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์ มีการเพราะปลูกกันมากในหลายพื้นที่
อ่านบทความนี้ต่อBest Infomal
พอเพียง หรือ อุตสาหกรรม ในระบบเกษตร
หากว่าจะย้อนกลับไปถึงความเป็นไปในยุคฟองสบู่แตกตั้งแต่ปี 40 เป็นต้นมา ภาคการเกษตรในประเทศไทยเป็นภาคเดียวที่ถือได้ว่า เป็นภาคธุรกิจและการค้าที่มองดูโดยรวมแล้วไม่มีผลกระทบกับปัญหามากเท่าไหร่นัก
อ่านบทความนี้ต่อHow to
วิธีปลูกแครอทในกระถาง ไว้กินเอง
วิธีปลูกแครอท ใครรู้ไหมว่ามันทำง่ายมาก ปกติซื้อกิน แต่วันนี้ ได้มารู้วิธีการปลูก นึกอยากจะปลูกไว้กินเองแล้ว เพื่อช่วยเหลือตัวเองในยุคผักแพง
อ่านบทความนี้ต่อ